พระประวัติ ของ นักองค์เภา (พระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี)

พระชนม์ชีพช่วงต้น

นักองค์เภา ประสูติเมื่อ พ.ศ. 2311 เป็นพระราชธิดาในพระนารายน์ราชารามาธิบดี (นักองค์ตน) ประสูติแต่พระอัครมเหสี พระนามว่า สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา มหากระษัตรี บรมบพิตร (พระนามเดิม นักนางอี)[1] โดยพระชนนีเป็นพระราชบุตรีของสมเด็จพระแก้วฟ้า (องค์ด้วง) ประสูติแต่พระแม่นางชื่อนักนางทา ธิดาพระยากระลาโหม (เมี้ยน)[2] นักองค์เภามีพระเชษฐภคินีสองพระองค์คือ นักองค์เม็ญ (หรือเมน) ประสูติแต่สมเด็จพระภัควดี พระเอกกระษัตรี (พระนามเดิม นักนางบุบผาวดี) กับนักองค์อี ประสูติแต่นักนางแม้น[3] และพระอนุชาคือ นักองค์เอง ประสูติแต่นักนางไชย[4]

นักองค์เภาสืบเชื้อสายไทยจากปัยยิกาฝ่ายพระชนนีชื่อนักนางรอด บาทบริจาริกาในสมเด็จพระศรีธรรมราชาธิราช (นักองค์อิ่ม) บิดาของนักองค์ด้วง เมื่อครั้งประทับอยู่ในกรุงศรีอยุธยา[2]

ลี้ภัยสู่กรุงสยาม

ใน พระราชพงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ 1 ระบุว่า พ.ศ. 2325 พระยายมราช (แบน) และพระยากลาโหม (ปก) พาเจ้านายเขมรและเขมรเข้ารีตประมาณ 500 คน เข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช เจ้านายเขมรที่เสด็จลี้ภัยในคราวนั้น ได้แก่ นักองค์อี นักองค์เภา และนักองค์เอง แต่นักองค์เม็ญป่วย ถึงแก่พิราลัยเสีย สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาทกราบทูลขอนักองค์อีและนักองค์เภาไปเป็นพระสนมเอกในวังหน้าสองพระองค์ ส่วนนักองค์เอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงชุบเลี้ยงเป็นพระราชโอรสบุญธรรม[5] สอดคล้องกับ ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท พระราชอนุชาในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงรับนักองค์เม็ญ นักองค์อี และนักองค์เภาไปเลี้ยงเป็นพระอรรคชายาเมื่อ พ.ศ. 2325[6] แต่ในเอกสารไทยว่านักองค์เม็ญสิ้นพระชนม์ไปเสียก่อนในกรุงเทพมหานคร คงเหลือเพียงนักองค์อีและนักองค์เภาที่รับไปเลี้ยงเป็นพระสนมเอกในกรุงสยาม[7] ส่วนนักนางแม้นที่เข้ามาในกรุงเทพมหานครด้วยกันนั้นก็ได้บวชเป็นชีที่วัดหลวงชี (ต่อมาคือ วัดบวรสถานสุทธาวาส)[8]

นักองค์เภามีพระประสูติการพระธิดาสองพระองค์คือ

  1. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าหญิง (พ.ศ. 2334 – ไม่ทราบปีสิ้นพระชนม์)
  2. พระเจ้าราชวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าปุก (พ.ศ. 2335 – ไม่ทราบปีสิ้นพระชนม์)

นิวัตกรุงกัมพูชา

ราชพงษาวดารกรุงกัมพูชา ระบุว่า สมเด็จพระภัควดี พระศรีสุชาดา และนักองค์เภา เดินทางออกจากสยามเข้ากัมพูชาทางเมืองพระตะบอง แล้วเดินทางออกจากพระตะบองพร้อมกับเจ้าพระยาอภัยธิเบศร์ (แบน) เสด็จไปประทับที่พระตำหนักตำบลโพธิกำโบ (แปลว่า "โพธิปูน") ตั้งแต่ พ.ศ. 2349[9] และ พ.ศ. 2350 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี ตรัสใช้พระองค์แก้ว (ด้วง) และออกญาจักรี (แกบ) นำเครื่องราชบรรณาการไปถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชที่กรุงเทพมหานคร เพื่อขอรับสมเด็จพระปิตุจฉาคือนักองค์อีและนักองค์เภาที่ประทับอยู่กรุงสยามกลับคืนกรุงกัมพูชา เอกสารไทยระบุว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชไม่โปรดพระราชทาน เพราะ "มีพระองค์เจ้าอยู่ จะให้ออกไปมิได้มารดากับบุตรจะพลัดกัน"[10] กล่าวคือมิทรงอนุญาตให้ทั้งนักองค์อีและนักองค์เภากับกรุงกัมพูชา[11][12] ขณะที่เอกสารเขมรระบุว่า พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชโปรดเกล้าพระราชทานให้ นักองค์เม็ญ นักองค์เภา และสมเด็จพระภัควดีพระเอกกระษัตรีกลับคืนเมืองเขมร เว้นแต่นักองค์อีที่คงให้อยู่กรุงเทพมหานครทั้งมารดาและพระราชบุตร[13]

เรื่องราวของนักองค์เภาปรากฏอีกครั้งในเอกสารกัมพูชา ที่ระบุว่าเมื่อ พ.ศ. 2356 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีตรัสให้ขุนนางนำศุภอักษรและเครื่องบรรณาการทูลเกล้าถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยที่กรุงเทพมหานคร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดเกล้าฯ รับรองเป็นอย่างดี แล้วทรงพระกรุณาให้ขุนนางนำเหรียญเงิน 1,000 เหรียญ ข้าวเปลือก 100 เกวียน และผ้าแพรผ้าลายประทานแก่สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดี กับสมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) และสมเด็จพระมารดา (โอด)[14] วันแรม 5 ค่ำ เดือน 3 ปีจอ ฉศก 1176 ตรงกับ พ.ศ. 2357 สมเด็จพระท้าว (นักองค์เม็ญ) สมเด็จพระปิตุจฉา (พระองค์เภา) และสมเด็จพระมารดา (โอด) ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมเล วัน เสวียต หรือองต๋ากุน ที่เมืองไซ่ง่อน เป็นเวลา 25 วัน แล้วจึงเสด็จกลับบันทายแก้ว[15] และวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 12 ปีกุน สัปตศก ตรงกับ พ.ศ. 2358 สมเด็จพระท้าว (เม็ญ) สมเด็จพระมารดา (โอด) และสมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) จะเสด็จไปเมืองเว้ แต่เมื่อถึงน่านน้ำเมืองไซ่ง่อน สมเด็จพระมารดาและสมเด็จพระปิตุจฉาทรงพระประชวร จึงเสด็จกลับกรุงเขมร[16] สอดคล้องกับเอกสารของจอห์น ครอว์เฟิร์ด ที่เข้ามาเป็นทูตในสยามนั้นระบุว่า เมื่อเขาลงไปเมืองไซ่ง่อน ได้พบเจ้าหญิงเขมรที่เคยเข้ารับราชการเป็นพระชายาในกรุงเทพมหานครลงไปเมืองไซ่ง่อนพระองค์หนึ่ง เข้าใจว่าเจ้านายฝ่ายในพระองค์นั้นอาจเป็นนักองค์เภา[13]

วันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 4 ปีชวด อัฐศก ตรงกับ พ.ศ. 2359 สมเด็จพระอัยยิกา (เม็ญ) สมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) และสมเด็จพระมารดา (โอด) ทรงเข้าร่วมพิธีแห่อัฐิ ทำบุญ และบรรจุอัฐิท่านยายมก พระอัยยิกาฝ่ายพระชนนีของสมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีที่เมืองกระแจะ แล้วเสด็จกลับเมืองบันทายแก้วในเดือน 5[17]

นักองค์เภามีพระอาการประชวรและสิ้นพระชนม์ลงเมื่อ พ.ศ. 2372 สมเด็จพระอุไทยราชาธิราชรามาธิบดีทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดงานพระราชทานเพลิงพระศพสมเด็จพระมารดา (โอด) และสมเด็จพระปิตุจฉา (เภา) พร้อมกัน แล้วแห่พระอัฐิไปบรรจุบนเขาพระราชทรัพย์ในปีเดียวกัน[18]